Wednesday, September 19, 2007

คำชี้แจงเกี่ยวกับการวัดระยะ 200 เมตร จากแนวชายฝั่งที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง ตามกฏกระทรวงฉบับที่ 9 (2521)

คำร้อง แถลงการณ์เกี่ยวกับคดี คดีหมายเลขดำที่ 54 / 2550

ศาลปกครองระยอง

วันที่ 18 กันยายน 2550

นายเทนบูลท์ อลูวิส โจเนส มาเรีย ที่ 1 กับพวกรวม 10 คน ผู้ฟ้องคดี
ระหว่าง
เจ้าพนักงานท้องถิ่นเมืองพัทยา ที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดี
บริษัท วิวทะเลจอมเทียนคอนโดมิเนียม (1999) จำกัดฯ ที่ 2

คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองระยอง ข้าพเจ้า นายเทนบูลท์ อลูวิส โจเนส มาเรีย ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 10 คน โดยนายอำนาจเที่ยงธรรม ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจ ได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงในคดี คำให้การพยานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2550 ซึ่งรวมอยู่ในสำนวนของศาลแล้ว ข้าพเจ้าขอทำคำแถลงประทานกราบเรียนต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายก่อนที่ศาลจะได้โปรดมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1) การที่ศาลปกครองระยองได้โปรดให้มีคำสั่งให้ความคุ้มครองชั่วคราวก่อนคำพิพากษา และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งแก้ไขคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวนั้นข้าพเจ้าทั้ง 10 เห็นพ้องด้วยว่าถูกต้องยุติธรรมแล้วทุกประการ
2) เมื่อพิจารณาถึงคำให้การของนาย ชาตรี ศรีวิเศษ พยานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อ้างว่าได้ดำเนินการออกใบอนุญาตถูกต้องตามขั้นตอนทุกประการแล้ว ผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 ขอกราบเรียนต่อศาลว่า เบื้องต้นผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 ได้ขอให้เมืองพัทยาชี้แจ้งข้อเท็จจริงต่างๆ ให้กระจ่างชัด แต่เมื่อนายนิรันดร์ วัฒนศาสตร์สาทร นายกเมืองพัทยาชี้แจงถึงเจ้าของร่วมในอาคารชุดจอมเทียนคอมเพล็กซ์ ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2548 ก็ไม่ได้รับการชี้แจงให้กระจ่างชัดเพียงแต่อ้างว่าโครงการก่อสร้างอาคารทั้ง 27 ชั้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ยื่นขอออกใบอนุญาตไม่ขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2519) ที่ออกตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2479 ซึ่งข้อชี้แจงนี้กฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2519) ได้ถูกยกเลิกและให้นำกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2521) ออกบังคับใช้แทนแล้ว ดังนั้นจึงไม่อาจอ้างกฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2519) มาใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบท้ายคำแถลงหมายเลข 1 และ 2 ตามลำดับ
3) กฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2519) และกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2521) ได้กำหนดวิธีวัดแนวเขตว่ามิให้ก่อสร้างอาคารสูงจากระดับถนนเกิน 14 เมตร ภายใน 100 เมตร และ 200 เมตร ตามลำดับ ให้วัดจากเขตควบคุมการก่อสร้างตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา ด้วยกันทั้งสองฉบับ แต่ข้อเท็จจริงฟังเป็นอันยุติว่าเขตควบคุมการก่อสร้างไม่อาจกำหนดได้ว่าจะวัดจากจุดใดเป็นจุดเริ่มต้น และจุดที่วัดนี้มีความสำคัญต่อผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อไม่มีผู้ใดสามารถที่จะยืนยันได้ว่าการวัดระยะ 200 เมตร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2521) ได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ส่งหนังสือเลขที่ มท. 0710/4245 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2550 ให้ความเห็นว่า “แนวเขตควบคุมการก่อสร้าง” มิใช่จุดวัด นี่คือความเห็นของกรมโยธาธิการและผังเมือง กรุงเทพฯ ในขณะนี้ ส่วนคำชี้แจงเพิ่มเติมต่อมาของเข้าพนักงานที่ถูกฟ้องคดีที่ว่า กฎกระทรวงฉบับที่ 8 กำหนดระยะ 100 เมตร และฉบับที่ 9 ได้เพิ่มระยะเป็น 200 เมตร ก็เป็นการเพิ่มระยะวัดนั้นก็ไม่ถูกต้องอีก เพราะการเพิ่มระยะให้ไกลออกไปอีก 100 เมตร เป็นเพียงการขายพื้นที่เขต “ห้ามก่อสร้าง” ที่แสดงในแผนที่แนบท้ายเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องวัดระยะ 100 เมตร เพิ่มเข้าไปในทะเล ดังความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กล่าวอ้างแต่อย่างใด หมายเหตุของระยะ 100 เมตร ในแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ 9 เพียงเพื่ออธิบายระยะห่างจากชายฝั่งที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง (MSL) ถึงแนวเขตควบคุมการก่อสร้างว่าเท่ากับ 100 เมตร การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้คำอธิบายความหมายในกรอบแห่งกฎหมายนั้นที่จริงเป็นการอ้างอิงที่ผิดในความหมายของกฎกระทรวงฉบับที่ 9 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อ้างว่าได้ใช้วิธีวัดระยะจาก “แนวชายฝั่งที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง (MSL)” ออกไปในทะเลเท่ากับ 100 เมตร แล้วจึงวัดระยะกลับมาอีก 200 เมตร เข้ามาในแผ่นดินโดยอ้างกฎกระทรวงฉบับที่ 9 เท่ากับว่าการวัดได้ระยะรวมทั้งสิ้น 300 เมตร การตีความเช่นนี้ย่อมไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์กฎกระทรวงฉบับที่ 9 ที่กำหนดระยะไว้เพียง 200 เมตรเท่านั้น รายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายคำแถลงหมายเลข 3
เจตนารมณ์ของการออกกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2519) ด้วยหมายเหตุใช้กฎกระทรวงว่า “หมายเหตุ: การที่ต้องกฎกระทรวงฉบับนี้ ก็เนื่องจากว่า ตามที่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ในท้องที่ตำบลบางละมุง ตำบลนาเกลือ ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2499 โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เพื่อใช้พักผ่อนสาธารณะ เห็นเป็นการสมควรที่จะให้มีการควบคุมการก่อสร้างอาคารบางชนิด ซึ่งอาจกระทบสภาพสิ่งแวดล้อม ก่อมลพิษ หรือขยะ จึงเห็นสมควรให้ตรากฎกระทรวงฉบับนี้”
กฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2521) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ. 2479 ได้มีหมายเหตุท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวว่า “สาเหตุที่ต้องออกกฎกระทรวงฉบับนี้เนื่องจาก เพื่อให้การควบคุมการก่อสร้างในพื้นที่ตำบลบางละมุง ตำบลนาเกลือ ตำบลหนองปรือ ที่มีการเพิ่มพื้นที่ตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 เพื่อใช้บังคับพื้นที่ ตำบลบางละมุง ตำบลหนองปลาไหล ตำบลนาเกลือ และตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2521 ดังนั้นจึงเห็นเป็นการสมควรให้แก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2519) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ. 2479 ที่ใช้บังคับควบคุมการก่อสร้างอาคารบางประเภท ในเขตพื้นที่ดังกล่าวที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา ประเด็นสำคัญอยู่ที่การปรับปรุงแผนที่ให้ทันสมัยขึ้น โดยที่แผนที่ใหม่ที่แนบท้ายในพระราชกฤษฎีกามีการขยาย แนวห้ามก่อสร้างออกไป รวมทั้งการกำหนดจุดเริ่มต้นของการวัดระยะในกฎกระทรวงฉบับที่ 8 ไว้ให้แน่นอนในแผนที่ของกฎกระทรวงฉบับที่ 9 นั่นคือ “เส้นชายฝั่งทะเลที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง (MSL)” ในแผนที่สำหรับผู้สำรวจ
นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 ขออนุญาตศาลอธิบายแผนที่โดยใช้กฎกระทรวงฉบับที่ 9 เกี่ยวกับแนวเขตควบคุมการก่อสร้างที่แสดงด้วยเส้นสีน้ำเงินในแผนที่ A. แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้พิจารณาถึงเส้นสีน้ำเงินตามที่แสดงและอธิบายในแผนที่ B. รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบท้ายคำแถลงหมายเลข 4.
การเปรียบเทียบแผนที่ A และ B ที่กำหนดโดยกฎกระทรวงต่างฉบับกันดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง กฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2519) และ กฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2521) ซึ่งต่างก็ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 มีข้อแตกต่างที่ชัดเจน ข้อแตกต่างที่สำคัญที่สุดคือ กฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับนั้นพูดแต่เพียงคำว่า “เขต” แต่ไม่ได้พูดคำว่า “เส้น” ดังนั้น กฎกระทรวงจึงต้องตีความตามความหมายของคำว่า “เขต” ซึ่งหมายความว่า จะต้องวัดระยะภายในแนวเขต ดังที่เขียนไว้ในแผนที่แนบไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 9 ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้ถ้อยคำในกฎหมายไม่ถูกต้อง จึงทำให้เกิดความสับสนต่างๆตามมา ในกฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2519) ได้กำหนดเส้นแนวเขต ไว้ที่ด้านริมทะเล แต่ไม่มีการอ้างจุดวัด หรือ กำหนดเครื่องหมายเพื่อเป็นจุดอ้างอิงให้ผู้สำรวจได้ยึดถือเมื่อมาทำการสำรวจพื้นที่จริง ผู้สำรวจย่อมต้องมีจุดให้ยึดเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดเมื่อทำการสำรวจพื้นที่ เช่นการสำรวจเมื่อน้ำทะเลขึ้นสูงสุด หรือ ระดับน้ำทะเลปานกลาง วัดที่ชายฝั่งทะเล เมื่อไม่มีกำหนดชัดเจนไว้เช่นนี้ เจ้าหน้าที่ของเมืองพัทยาย่อมไม่อาจกำหนดจุดระยะ 100 เมตรได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 8 หรือแม้แต่ในแผนที่ที่แนบท้ายนั้น โดยปราศจากมาตรฐานที่แน่ชัดว่าจุดอ้างอิงที่ใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการวัดคือจุดใด
นายสุพล พงษ์ไทยพัฒนา หัวหน้าวิศวกรของกรมโยธาฯ ได้แถลงต่อศาลเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 ถึงข้อ 2 ในจดหมาย ม.ท. 0710/4245 ซึ่งออกโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองว่า ระยะห่าง 100 เมตรที่อ้างถึงในข้อ 3 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2519) ซึงออกภายใต้ พ.ร.บ. ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 และ ระยะ 200 เมตรที่อ้างถึงในข้อ 3 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2521) ซึ่งออกภายใต้ พ.ร.บ. ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ไม่ใช่แนวเดียวกัน กล่าวคือ กฎกระทรวงฉบับที่ 8 ไม่ได้ระบุว่า ให้วัดจากระดับน้ำทะเลปานกลาง( MSL) หรือให้วัดจากจุดหนึ่งจุดใดที่แน่นอน เพียงแต่ระบุว่า “ตามแนวรอบเขตควบคุมการก่อสร้าง” ในแผนที่แนบท้ายของกฏกระทรวงฉบับที่ 8 เมื่อกฎกระทรวงฉบับที่ 9 ออกมา ในแผนที่จึงมีการกำหนดจุดที่ชัดเจนว่า “ที่เส้นชายฝั่งในระดับน้ำทะเลปานกลาง ( MSL)” เป็นการกำหนดที่ชัดเจนให้ผู้สำรวจได้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ที่ 2 กลับอ้างว่าไม่สามารถเข้าใจได้ เนื่องจากไม่เข้าใจว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่ราชการที่เขียนแผนที่ของฉบับที่ 9 ที่ใช้เป็นกฎหมายจึงต้องการให้ผู้สำรวจต้องวัดลงไปในทะเลเป็นระยะ 100 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ( MSL) ก่อน แล้วจึงสามารถวัดระยะกลับเข้ามาทางด้านแผ่นดินได้ เมื่อดูจากลูกศรในแผนที่ฉบับที่ 9 ก็ย่อมแสดงได้ชัดแล้วว่า ลูกศรนี้มีไว้เพื่อกำหนดการขยายเส้นแนวเขตควบคุมการก่อสร้างดังที่ปรากฏในแผนที่ เพื่อจุดประสงค์ในการป้องกันสิ่งแวดล้อมจากมลพิษอันเป็นเหตุผลของการออกกฎกระทรวงฉบับนี้ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
อีกประการหนึ่ง การเพิ่มระยะห่างจาก 100 เมตรเป็น 200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (MSL) เข้ามายังแผ่นดินเพื่อจำกัดความสูง 14 เมตรของอาคารจากพื้นผิวถนน ก็เพื่อจุดประสงค์ในการรักษาสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เพื่อรักษาสภาพริมทะเลอันสวยงามไว้ให้คนไทยได้ชื่นชมกับบรรยากาศริมชายทะเล โดยไม่มีป่าคอนกรีตที่เต็มไปด้วยอาคารชุดที่สูงมากด้านริมทะเลขึ้นมาบดบังทัศนีย์ภาพที่สวยงามให้หมดไป
นั่นแสดงให้เห็นว่าขบวนการและขั้นตอนการออกใบอนุญาตก่อสร้าง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2521)
ผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 ขอประทานกราบต่อศาลเพิ่มเติมว่าขอได้โปรดพิจารณาแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2519) ที่แสดงแนวเขตควบคุมการก่อสร้าง ได้กำหนดแนวเขตไว้ทั้ง 4 ด้าน เป็นพื้นที่ควบคุมการก่อสร้าง เส้นดังกล่าวยังปรากฏอยู่ในแผนที่ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2521) ด้วย โดยพื้นที่ควบคุมการก่อสร้าง ได้ถูกขยายเพิ่มระยะออกไปอีก 100 เมตรทางด้านทะเลเท่านั้น มิได้มีการขยายออกไปทางด้านพื้นดิน เช่น ทางด้านถนนสุขุมวิท ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 ได้แสดงแผนที่นี้ในคำให้การเป็นเอกสารหมายเลข 16 โดยทำเครื่องหมายเพียง เส้นแนวเขตควบคุมการก่อสร้างเท่านั้น ณ.บริเวณซ้ายมือของแผนที่ ซึ่งแสดงเส้นของแนวเขตควบคุมการก่อสร้างด้านริมทะเล อย่างไรก็ดี เพื่อที่จะแสดงเขตควบคุมการก่อสร้างได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าซึ่งเป็นทนายความของผู้ฟ้องร้องคดีทั้ง 10 ได้เพิ่มแผนที่เดียวกันนี้อีก 1 สำเนา รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบท้ายคำแถลงหมายเลข 5. ซึ่งได้แสดงแนวเขตควบคุมการก่อสร้างทั้งหมด สีน้ำเงินบอกเพียงแนวเขตของบริเวณควบคุมการก่อสร้าง และไม่มีจุดอ้างอิงว่าจุดเริ่มต้นของการวัดระยะคือจุดใด เส้นสีเหลืองแสดงเส้นชายฝั่งทะเลที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงเป็นระยะที่วัดจากจุดกำหนดที่แน่นอน ตามคำอธิบายหนังสือ ม.ท. 0710/4245 ออกโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง วันที่ 19 มิถุนายน 2550 หัวหน้าวิศวกรของกรมฯ โดยนายสุรพล พงษ์ไทยพัฒนาได้ให้การต่อศาล หมายเลข 2 ว่า “ระยะ 100 เมตรตามข้อ 3 ในกฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ.2519) ออกตามพ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 และ ระยะ 200 เมตรที่ออกในฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2521) ออกตามพ.ร.บ. ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ไม่ใช่แนวเดียวกัน กล่าวคือ กฎกระทรวงฉบับที่ 8 ไม่ได้กำหนดให้วัดที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง ( MSL) แต่กฏกระทรวงฉบับที่ 9 กำหนดให้วัดแนวชายฝั่งที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง ( MSL) เท่านั้น นั่นคือ เส้นแนวชายฝั่งทะเลที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง ในแผนที่แนบกับกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2521) คือแนวเส้นเดียวกันกับแนวเส้นเขตควบคุมการก่อสร้าง
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตีความให้วัดระยะ จากระดับน้ำทะเลปานกลาง 100 เมตรลงไปในทะเลเพื่อกำหนดระยะเส้นเขตควบคุมการก่อสร้าง แล้วจึงให้วัดกลับมาอีก 200 เมตรเพื่อหาเส้นกำหนดเขตห้ามก่อสร้างจึงเป็นการตีความที่ตรงข้ามกัน แผนที่ที่แนบท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ 9 ได้แสดงด้วยลูกศรอย่างชัดเจนให้ชี้ให้เห็นถึง แนวเส้นเขตควบคุมการก่อสร้าง ในขนาดสัดส่วนเท่ากับ 100 เมตร เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด สีลูกศรที่ชี้ทิศทางระยะ 100 เมตร จึงถูกแสดงเป็นสีแดง ที่ตรงข้ามกับลูกศรพอดีมีลูกศรอันที่สอง เพื่อชี้เส้นชายฝั่งที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง การวางตำแหน่งของลูกศรทั้งสอง อันวางไว้ตรงข้ามกันบนแผนที่ ก็เพื่อความสะดวกในการแสดงระยะระหว่าง “เส้นแนวระยะของเขตควบคุมการก่อสร้าง” กับ แนวชายฝั่งที่วัดจากระดับน้ำทะเลปานกลางที่ระยะ 100 เมตร เนื่องจากระยะห่างกันระหว่างเส้นทั้งสองมีน้อยมาก ระยะห่าง (ระยะ100 เมตร) ระหว่างสองเส้น จึงได้แสดงไว้ที่ด้านซ้ายมือ ตามมาตรฐานการเขียนแผนที่ การแสดงช่องว่างระหว่างเส้นสองเส้นได้แสดงให้เห็นไว้ในแผนที่ด้วย ตัวอย่างเช่น การแสดงเส้นในแผนที่ประกอบกฎกระทรวงที่ออกใช้บังคับแก่การควบคุมผังเมืองพัทยา พ.ศ. 2546 ซึ่งแสดงระยะวัดที่ 600 เมตรในแถบพื้นที่สีเขียว แทนพื้นที่สำหรับสันทนาการและเพื่อการพักผ่อนจำต้องมีการควบคุมมลพิษรายละเอียดปรากฏตามแผนที่แสดงลูกศรระบายสีให้เห็นเด่นชัด รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบท้ายคำแถลงหมายเลข 6.
เหตุผลสนับสนุนดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีกฎกระทรวงฉบับที่ออกใช้บังคับควบคุมการก่อสร้างอาคารตามแนวชายฝั่ง มีข้อเท็จจริงสนับสนุนปรากฎตามกฎกระทรวงฉบับที่ 30 และ 31 (พ.ศ. 2534) รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบท้ายคำแถลงหมายเลข 7.
เหตุผลและข้อเท็จจริงอื่นที่ไม่น่าเชื่อถือตามคำให้การพยานที่ถูกฟ้องคดี การวัดระยะจากระดับน้ำทะเลปานกลาง MSL ที่เส้นชายฝั่งก็น่าจะแสดงจุดวัดที่แน่ชัดที่ใช้วัดเมื่อไรก็ให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องแน่นอน ฉะนั้นการวัดครั้งที่สองที่อ้างว่าต้องวัดเข้าไปในทะเลจึงฟังดูไม่มีเหตุผล และทำให้เสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา โดยไม่จำเป็น และน่าจะลำบากมากเพราะการวัดในทะเลไม่ใช่การวัดบนบกที่แห้งและไม่เคลื่อนที่ไปมาเหมือนในน้ำทะเล
4) ท้ายนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 ใคร่เรียนชี้แจงให้ศาลเห็นข้อเท็จจริงที่เข้าใจได้ง่ายๆว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่เคยแถลงเหตุผลใดๆในข้อกฎหมายที่สนับสนุนวิธีการวัดระยะของตนเอง ว่าเหตุใดกฎหมายจึงต้องการให้มีการวัดระยะที่ยุ่งยากลำบากเช่นนั้น ในความเห็นของพวกข้าพเจ้าทั้ง 10 นั้น กฎกระทรวงฉบับที่ 9 มีเจตนาที่จะขยายพื้นที่ควบคุมการก่อสร้างให้กว้างขึ้น โดยรวมเอาระยะ 100 เมตร ตามแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปด้วย และกฎกระทรวงมีเจตนารมณ์ที่จะเปลี่ยนการจำกัดความสูงเกิน 14 เมตรที่ ระยะ 100 เมตร เป็นระยะ 200 เมตร โดยวัดจากเส้นชายฝั่งทะเลที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง( MSL) เหตุผลที่กฎหมายต้องระบุคำว่าทะเลเข้าไปใน “เขตควบคุมการก่อสร้าง” ก็เพื่อห้ามไม่ให้ทำการก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในทะเลในพื้นที่ควบคุมการก่อสร้าง เช่น พื้นที่ชายหาดพัทยา และ พื้นที่ควบคุมการก่อสร้างที่เหลือ
“เส้นกำหนดเขตห้ามก่อสร้าง” ที่กำหนดระยะ 100 เมตรเข้าไปในทะเลก็เพื่อป้องกันการฝ่าฝืน การทำลายธรรมชาติในลักษณะนี้ นี่คือการที่กฎหมายมีเหตุมีผลที่ “เขตควบคุมการก่อสร้าง” ตั้งอยู่บน “แนวชายฝั่ง” ที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง ( MSL) ระหว่างตำแหน่งที่ 1 กับตำแหน่งที่ 2 การวางตำแหน่ง ”เขตควบคุมการก่อสร้าง” ให้อยู่บน “แนวชายฝั่ง” ที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง (MSL) ระหว่างตำแหน่งที่ 1 กับตำแหน่งที่ 2 ตามด้วย “เส้นแนวเขตควบคุมการก่อสร้าง” ที่ได้ถูกขยายให้กว้างกว่าเดิม 100 เมตร ออกไปทางด้านทะเล จะช่วยป้องกันการก่อสร้างอาคารที่ผิดกฎหมายไม่ให้เกิดขึ้นได้ ด้วยการอธิบายของพวกข้าพเจ้าดังที่กราบเรียนข้างต้น เรื่องการวัดระยะ 200 เมตร จากแนวชายฝั่งที่ระดับน้ำทะเลปานกลางเข้ามาในผืนดิน ดังนั้น การก่อสร้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องจากสถานที่ที่จะก่อสร้างอยู่ในเขตห้ามก่อสร้างอาคารตามกฎหมายกำหนดไว้นั้น อีกตัวอย่างหนึ่งของจุดประสงค์ในการออกกฎหมายเพื่อขยายแนวเขตห้ามก่อสร้างในลักษณะนี้ คือ ตลาดนาเกลือ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการก่อสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในทะเล รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายโดยสังเขปเอกสารแนบท้ายคำแถลงหมายเลข 8.
5) สิ่งปลูกสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษเกินกว่า 14 เมตร บริเวณใกล้เคียงกันนอกจากอาคารชุดจอมเทียน คอมเพล็กซ์ คอนโดเทล ซึ่งเป็นอาคารชุดของผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 แล้วยังมีอาคารสูงพิเศษขนาดใหญ่อื่น อาทิ อาคารชุด จอมเทียน คอนโดเทล หรือ อาคารชุด แกรนด์ คอนโดเทล ล้วนแต่ก่อสร้างขึ้นในระยะห่างเกินกว่า 200 เมตร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2521) ทั้งสิ้น รายละเอียดปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารท้ายคำแถลงหมายเลข 9.
ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อ้างว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 คณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมได้เห็นชอบว่า การก่อสร้างจะไม่กระทบสิ่งแวดล้อมจากการศึกษาของคณะกรรมการชุดนี้ อีกทั้งการก่อสร้างได้ผ่านการเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่หากได้พิจารณาจากเอกสารที่อ้างนั้น กลับเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นขององค์กรเอกชน ชื่อ บริษัท เอส พี เอส คอนซัลติ้ง เซอร์วิส จำกัด แล้วนำไปให้หน่วยงานราชการลงนามเพื่ออนุมัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ลงมือก่อสร้างอาคารดังกล่าวได้ พวกข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังที่ควรจะกระทำตามขั้นตอนปฏิบัติที่มีมาตรฐานกำหนดไว้ ยกตัวอย่างพวกข้าฯทั้ง 10 ที่เป็นผู้ฟ้องคดี พวกเจ้าของร่วมในอาคารชุดฯ พวกเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียงน่าจะได้ให้ความเห็นชอบด้วย และแบบก่อสร้างก็น่าจะได้รับการเห็นชอบให้ก่อสร้างได้จากพวกข้าพเจ้า ความเห็นว่ากระบวนการนี้ควรจะมีนั้นได้แสดงไว้ในหนังสือของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 3 มีนาคม 2549 นอกจากนี้ บริษัท เอส พี เอส จำกัด ซึ่งเป็นเอกชน ได้ถูกจ้างให้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากเจ้าของร่วมในอาคารชุด จอมเทียน คอมเพล็กซ์ คอนโดเทล บรรดาเจ้าของร่วมต่างตอบแบบสอบถามด้วยสามัญสำนึกว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการก่อสร้างคอนโดแห่งใหม่นี้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 จึงขอความกรุณาศาลได้โปรดมีคำสั่งเรียกเอกสารทั้งหมดเกี่ยวกับการยื่นผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนคำพิพากษาต่อไป เอกสารแนบท้ายคำแถลงหมายเลข 10
6) ผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 ขอประทานกราบเรียนต่อศาลเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้แม้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาก็ตาม แต่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 ขอความเป็นธรรมเพื่อประกอบการพิจารณาและชี้ให้ศาลได้เห็นในประเด็นแห่งกฎหมายแพ่งในข้อเท็จจริงเรื่องนี้แต่ต้น กล่าวคือ ในคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กล่าวว่า ผู้ซื้อโครงการในอาคารชุด จอมเทียน คอมเพล็กซ์ คอนโดเทล ซึ่งตั้งอยู่ที่ด้านข้างของถนนทัพพระยา และไม่ได้อยู่ติดกับชายทะเล ก็น่าคิดได้ว่า ในอนาคตจะมีคอนโดมีเนียมแห่งใหม่ขนาดใหญ่ก่อสร้างขึ้นมาบดบังวิวทะเล ทิศทางลม หรือแสงสว่าง ของตนได้ ขอเรียนว่าเจ้าของร่วมที่ซื้อห้องชุดในอาคารชุด จอมเทียน คอมเพล็กซ์ คอนโดเทล ตัดสินใจซื้อห้องชุดโดยอาศัยข้อมูลในหนังสือโฆษณาชี้ชวนของ บริษัท จอมเทียน คอมเพล็กซ์ คอนโดเทล นอกจากนี้ อาคารชุดจอมเทียน คอมเพล็กซ์ คอนโดเทล จะตั้งอยู่ด้านข้างของถนนพัพพระยา แต่ทุกห้องชุดที่จำหน่ายอยู่ในขณะนั้น มองเห็นวิวมุมกว้างของทะเลที่สวยงามทั้งสิ้น (โปรดดูโบร์ชัวร์โฆษณาการขาย ของบริษัท จอมเทียน คอมเพล็กซ์ คอนโดเทล จำกัด) ภาพวิวทะเลมุมกว้างนี้น่าจะยังคงอยู่ตลอดไปหากผู้ขายโครงการรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ว่า ด้านหน้าติดทะเลจะสร้างโรงแรมซึ่งสูงไม่เกิน 14 เมตร ดังที่ประกาศโฆษณาไว้ในโบชัวร์ดังที่อ้างไว้ในแบบแปลนแผนผังเดิมของโครงการทั้งหมด จากนั้นเจ้าของโครงการจึงมีการประกาศขายแก่สาธารณะชนทั่วไป นายพงษ์ศักดิ์ จิตรประเสริจฐ์ ผู้จัดการอาคารชุด จอมเทียน จอมเทียน คอมเพล็กซ์ คอนโดเทล จำกัด ในขณะนั้น ได้บอกให้บรรดาเจ้าของร่วมที่ซื้ออาคารชุดว่าไม่ต้องกังวลหรือห่วงอะไร เพราะผู้ซื้อที่ดินผืนดังกล่าวเป็นนักพัฒนาโรงแรม เจ้าของที่คนใหม่น่าจะสร้างโรงแรมดังที่แบบแปลนแผนผังเดิมกำหนดไว้รายละเอียดปรากฏตามหนังสือใบประกาศโฆษณาประชาสัมพันธ์ เอกสารแนบท้ายคำแถลงหมายเลข 11 และ 12 ตามลำดับ
ด้วยเหตุผลดังที่ประทานกราบเรียนต่อศาลปกครองมาแล้วข้างต้น ผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 จึงขอศาลได้โปรดหยิบยกเหตุผลต่างๆ ที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 เสนอมาข้างต้นมาพิจารณาว่าระยะ 200 เมตร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 9 พ.ศ. 2521 จากแนวชายฝั่งที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงควรจะเป็นเส้นเดียวกับเส้นแนวเขตควบคุมการก่อสร้างหรือไม่ ซึ่งเป็นระยะที่ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 14 เมตร มาพิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนมีคำสั่งหรือมีคำพิพากษา ซึ่งการใดจะควรมิควร ก็แล้วแต่ศาลจะโปรดให้ความกรุณา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ................................................... ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีทั้ง 10
( นายอำนาจ เที่ยงธรรม )

No comments: